เมื่อกี้ ได้เข้าไปเว้บจีน หาโน้นหานี้ดูเล่นๆ แล้วก็ เจอเรื่องน่าสนใจเลยเอา เป็นข้อมูลแบ่งปั่นให้เพื่อนๆ ครับ
เราๆ ก็รู้จักเทพเจ้าที่ได้รับอวยยศเป็นเต่กุน กันอยู่แล้ว ก็คื่อ กวนเส่งเส่งเต่ กุน จริงๆ แล้วเหลืออีก 4 ครับ มีดังนี้ครับ
五聖帝君 หง้อเส่งเต่กุน
- 關羽、 กวนอู 關聖帝君 กวนเส่งเต่กุน
- 趙子龍、 เตียจูล่ง 趙聖帝君 เตียเส่งเต่กุน
- 張飛、 เตียวหุย 張聖帝君 เตียวเส่งเต่กุน
- 馬超、 ม่าเฉียว 馬聖帝君 ม่าเส่งเต่กุน
- 黃忠、 ฮองตง 黃聖帝君 ฮองเส่งเต่กุน
ทั้ง 5 ล้วนเป็นบุคคลในประวัติศาสตรืจีน สมัยสามก๊ก เป็นแม่ทัพที่เก่งกาจ มีคุณธรรม จรรยา ทั้งสิ้น
ทั้ง5 ท่าน คือ 5 ทหารเสือแห่ง จีกก๊ก นั้นเอง ครับ
มีประวัติพอสังเขป ดังนี้ ครับ
............................................................................................................................................
กวนอู (อังกฤษ: Guan Yu;จีนตัวเต็ม: 關羽; จีนตัวย่อ: 关羽; พินอิน: Guān Yǔ; เวด-ไจลส์: Kuan Yu)
เป็นตัวละครในวรรณกรรมจีนอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊กที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ยุคสามก๊ก เกิดเมื่อวันที่ 24 เดือน 6 จีนศักราชเอี่ยงฮี ปี พ.ศ. 703 ในรัชสมัยของพระเจ้าฮั้นฮวนเต้ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 12 เดือนที่ 7 จีนศักราชเคี่ยงเซ้ง ปี พ.ศ. 762 ในรัชสมัยของพระเจ้าฮั่นเหี้ยนเต้
มีชื่อรองว่า "หุนเตี๋ยง" (จีน: 云长) เป็นชาวอำเภอไก่เหลียง ลักษณะตามคำบรรยายในวรรณกรรมสามก๊ก กวนอูเป็นผู้มีรูปร่างสูงใหญ่ 9 ฟุตจีนหรือประมาณ 6 ศอก ใบหน้าแดงเหมือนผลพุทราสุก นัยน์ตายาวรี คิ้วดั่งหนอนไหม หนวดเครางามถึงอก[3] มีง้าวรูปจันทร์เสี้ยว ยาว 11 ศอก หนัก 82 ชั่ง เป็นอาวุธประจำกายเรียกว่า "ง้าวมังกรเขียว" หรือ "ง้าวมังกรจันทร์ฉงาย" ในจินตนาการของศิลปินมักวาดภาพหรือปั้นภาพให้กวนอูแต่งกายด้วยชุดสีเขียวและมีผ้าโพกศีรษะ กวนอูมีความเชี่ยวชาญและเก่งกาจวิทยายุทธ จงรักภักดี กตัญญูรู้คุณ มีคุณธรรมและซื่อสัตย์เป็นเลิศ
ในวัยหนุ่มฉกรรจ์กวนอูได้พลั้งมือฆ่าปลัดอำเภอและน้าชายตายจนต้องหลบหนีการจับกุม[4] และพบกับเล่าปี่และเตียวหุยจนร่วมสาบานตนเป็นพี่น้องกันในสวนท้อ ร่วมทำศึกกับเล่าปี่มาโดยตลอด เป็นหนึ่งในห้าทหารเสือของเล่าปี่ ครองเกงจิ๋วร่วมกับกวนเป๋งบุตรบุญธรรมและจิวฉอง ภายหลังถูกแผนกลยุทธ์ปิดฟ้าข้ามทะเลของลกซุนและลิบองจนเสียเมืองเกงจิ๋ว กวนอูคับแค้นใจที่พลาดท่าเสียทีลกซุนและลิบองจึงนำทัพไปตีเกงจิ๋วเพื่อแย่งชิงคืน แต่ถูกจูเหียนและพัวเจี้ยงจับได้พร้อมกวนเป๋งที่เขาเจาสันและถูกประหารในปี พ.ศ. 762 รวมอายุได้ 59 ปี
............................................................................................................................................
จูล่ง จีนตัวเต็ม: 子龍; จีนตัวย่อ: 子龙; พินอิน: Zǐlóng)
เป็นตัวละครในวรรณกรรมจีนอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊กที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ยุคสามก๊ก ชื่อจริงคือ เตียวหยุน (จีนตัวเต็ม: 趙雲; จีนตัวย่อ: 赵云; พินอิน: Zhào Yún) แม่ทัพคนสำคัญของเล่าปี่ ในยุคสามก๊กของประเทศจีน และเป็น 1 ใน 5 ขุนพลทหารเสือของเล่าปี่ ในวรรณกรรมสามก๊กโดยจูล่งเป็นทหารเสือคนที่ 5
จูล่ง ได้รับฉายาว่าเป็น "สุภาพบุรุษจากเสียงสาน" เกิดในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 2 ที่อำเภอเจินติ้ง เมืองเสียงสาน มีแซ่เตียว (จ้าว) แต่ไม่มีใครเรียกว่า เตียวจูล่ง สูงประมาณ 6 ศอก (1.89 เมตร) หน้าผากกว้างดั่งเสือ ตาโต คิ้วดก กรามใหญ่กว้างบ่งบอกถึงนิสัยซื่อสัตย์ สุภาพเรียบร้อย น้ำใจกล้าหาญ สวมเกราะสีขาว ใช้ทวนยาวเป็นอาวุธ พาหนะคู่ใจ คือ ม้าสีขาว คอยติดตามเล่าปี่ และขงเบ้ง จูล่งเป็น 1 ใน 5 ขุนพลทหารเสือที่ เล่าปี่แต่งตั้งขึ้น ประกอบด้วย จูล่ง กวนอู เตียวหุย ม้าเฉียว และฮองตง
ประวัติ
จูล่งเดิมเดิมเป็นชาวเมืองเสียงสาน ต่อมาได้มาเป็นทหารของอ้วนเสี้ยว แต่อ้วนเสี้ยวหยาบช้า ไร้น้ำใจ จูล่งจึงหนีไปอยู่กับกองซุนจ้านเจ้าเมืองปักเป๋ง โดยที่ขณะนั้นกองซุนจ้านได้ทำศึกกับอ้วนเสี้ยว จูล่งยังได้ช่วยชีวิตกองซุนจ้านไว้แล้วสู้กับบุนทิวถึง 60 เพลง จนบุนทิวหนีไป ต่อมาจูล่งได้มีโอกาสรู้จักกับเล่าปี่ ทั้งสองต่างเลื่อมใสซึ่งกันและกัน เมื่อกองซุนจ้านฆ่าตัวตายเพราะแพ้อ้วนเสี้ยว จูล่งจึงได้ร่อนเร่พเนจรจนมาถึงเขาโงจิวสัน ซึ่งมีโจรป่ากลุ่มหนึ่งมีหุยง่วนเสียวเป็นหัวหน้า หุยง่วนเสียวคิดชิงม้าจากจูล่ง จูล่งจึงฆ่าหุยง่วนเสียวตายแล้วได้เป็นหัวหน้าโจรป่าแทน ต่อมากวนอูได้ใช้ให้จิวฉองมาตามหุยง่วนเสียวและโจรป่าไปช่วยรบ จิวฉองเมื่อเห็นจูล่งคุมโจรป่าจึงคิดว่าจูล่งคิดร้ายฆ่าหุยง่วนเสียว จิวฉองจึงตะบันม้าเข้ารบกับจูล่ง ปรากฏว่าจิวฉองต้องกลับไปหากวนอูในสภาพเลือดโทรมกาย ถูกแทงถึง 3 แผล (สำนวนสามก๊กฉบับวณิพกของ ยาขอบ) จิวฉองเล่าว่าคนผู้นี้มีฝีมือระดับลิโป้ ดังนั้นกวนอูกับเล่าปี่จึงต้องรุดไปดูด้วยตนเอง แต่เมื่อได้พบกันจูล่งก็เล่าความจริงทั้งหมด ตั้งแต่นั้นมาจูล่งก็ได้เป็นทหารเอกของเล่าปี่เคยรบชนะม้าเฉียวในการประลองตัวๆและยังเคยทะเลาะกับเตียวหุยตอนอยู่กับกองซุนจ้านจนเกือบสังหารเตียวหุยแต่กวนอูมาขวางไว้
ในปี พ.ศ. 751 จูล่งสร้างวีรกรรมครั้งสำคัญคือ ฝ่าทัพรับอาเต๊า บุตรชายของเล่าปี่ที่เกิดจากนางกำฮูหยิน ซึ่งพลัดหลงกับเล่าปี่ที่ทุ่งเตียงบันโบ๋ จูล่งทำการครั้งนี้เพียงคนเดียว ท่ามกลางทหารและองครักษ์มากมายของโจโฉที่ยกทัพลงทางใต้หวังรวบรวมแผ่นดิน และได้ฆ่าทหารเอกและทหารเลว ของโจโฉมากมาย ตั้งแต่ 03.00 น. จนถึง 15.00 น. ของอีกวัน จนโจโฉ ถึงกับถามชื่อขุนพลผู้นี้ ซึ่งจูล่งได้ตอบโจโฉว่า "ข้าชื่อจูล่ง แห่งเสียงสาน" และครั้งหนึ่งจูล่งได้ไปชิงตัวอาเต๊าคืนมาจากซุนฮูหยิน ที่ต้องกลของซุนกวนที่หวังจะดึงไปเป็นตัวประกันที่ง่อก๊ก จูล่งเป็นผู้ที่ติดตามเล่าปี่ตลอด แม้จะไม่ได้สาบานเป็นพี่น้องกันเหมือน กวนอูและเตียวหุย แต่จูล่งก็เรียกกวนอูและเตียวหุยว่า "พี่สองและพี่สาม" แต่กับเล่าปี่ จูล่งจะเรียกว่า "นายท่าน" ตอนที่เล่าปี่จะสิ้นใจในเรียก ขงเบ้งเข้าพบ และเรียกจูล่ง ทรงตรัสด้วยคำพูดว่า " ท่านกับเรานั้นต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กันมา แต่มาบัดนี้ ชะตากรรมกำลังพรากเราสอง ขอให้ท่านนึกถึงนำใจเก่าก่อนช่วยเหลือบุตรเราและท่านขงเบ้ง ฟื้นฟูราชวงศ์ฮั่นอัญเชิญราชวงศ์ฮั่นกลับสู่ราชธานีลกเอี๋ยงด้วย "
และหลังจากที่เล่าปี่เสียชีวิตลง จูล่งเป็นทหารสังกัดของขงเบ้ง เมื่อยามศึกยังสู้แม้ตัวเองแก่แล้ว มีครั้งหนึ่ง ก่อนรบศึกกับฝ่ายวุยก็ก ช่วงนั้นขงเบ้งเลือกทหารให้ไปรบ แต่กลับไม่เลือกจูล่ง เพราะขงเบ้งว่าจูล่งแก่แล้ว แต่จูล่งกลับแย้งขี้นมา จูล่งเสียชีวิตอย่างสงบในเมืองฮั่นจง เมื่อปี พ.ศ. 772 หลังจากที่จูล่งตาย ขงเบ้งได้รำพันออกมาว่า "แขนซ้ายข้าขาดแล้ว" และเป็นลมสิ้นสติไปด้วยความเสียใจ
ซึ่งตัวละคร จูล่ง ถือได้ว่าเป็นตัวละครที่ผู้อ่านสามก๊กโดยส่วนมาก โปรดปราน ชื่นชมมากที่สุดในบรรดาตัวละครทั้งหมดในเรื่อง เนื่องจากเป็นผู้ที่มีรูปลักษณ์ การแต่งกายสง่างาม ฝีมือสัประยุทธ์เป็นเลิศ และมีความซื่อสัตย์ ทำการโดยไม่เห็นแก่ลาภยศ
............................................................................................................................................
เตียวหุย (อังกฤษ: Zhang Fei, จีน: 張飛 พินอิน: Zhāng Fēi) (ค.ศ. 168-ค.ศ. 221)
เป็นแม่ทัพในวรรณกรรมจีนเรื่องสามก๊ก มีชื่อรองว่า เตียวเอ็กเต้ ในภาษาจีนกลางเรียก จังเฟย เป็นบุคคลคนหนึ่งที่อยู่ในสังกัดห้าทหารเสือแห่งจ๊กก๊กเป็นคนที่ 2
ประวัติ
เตียวหุย ทรงเป็นพระอนุชาร่วมสาบานคนสุดท้องของพระเจ้าเล่าปี่และเทพเจ้ากวนอู โดยการสาบานที่สวนดอกท้อนั้น กระทำขึ้นที่หลังบ้านของเตียวหุยเอง และเป็นเตียวหุยที่ออกทุนทรัพย์ในการรวบรวมผู้คนเป็นครั้งแรกของทั้ง 3 มีนิสัยวู่วามอารมณ์ร้อน ชอบดื่มสุราจนเมามายแล้วเฆี่ยนตีทหารบ่อย ๆ ศีรษะโตเหมือนเสือ หน้าสีดำ ตาพองโต เสียงดังปานฟ้าผ่า กิริยาดั่งม้าควบ เป็นผู้มีพละกำลังมาก อาวุธประจำตัวคือทวนยาว 8 ศอก หนัก 80 ชั่งจีน เรียกว่าทวนอสรพิษ บางตำราเรียกว่า ทวนยาวอสรพิษ ตัวคมทวนขดไปมาเป็นคลื่นคล้ายงู ปลายคมเป็นรูปจันทร์เสี้ยว อาชีพเดิมของเตียวหุยคือคนขายหมูในเมืองตุ้นกวน ต่อมาได้ติดตามเล่าปี่เพื่อปราบกบฏโจรโพกผ้าเหลือง และเตียวหุยก็ได้ร่วบรบกับพระเจ้าเล่าปี่ มาตลอดทั้งชีวิต ทั้งสู้รบมาหลายศึกอย่างศึกเซ็กเพ็ก ศึกเขาเตงกุนสัน ร่วมรบกับทหารเสือหลายคน ภายหลังเตียวหุยเสียชีวิตขณะยกทัพไปหมายจะล้างแค้นให้กวนอู เพราะถูกลอบฆ่าตัดหัวโดยฮอมเกียงและเตียวตัดทหารฝ่ายตนเอง เตียวหุยอายุได้ 55 ปี (ในฉบับหลอกว้านจงกล่าวว่าเสียชีวิตเมื่ออายุ 50 ปี) เนื่องจากนิสัยวู่วามของตนเอง
ภายนอกเตียวหุยอาจดูเป็นคนหยาบช้า อารมณ์ร้อนไม่มีสติปัญญา แต่แท้ที่จริงแล้วเตียวหุยเป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์มาก เป็นคนตรงไปตรงมา นับถือคุณธรรม กล้าหาญ และเป็นผู้ที่มีสติปัญญาในการวางอุบายรบด้วย ดั่งจะเห็นได้จากหลายตอน เช่น เมื่อครั้งที่เล่าปี่อพยพครอบครัวและชาวเมืองจากเมืองซินเอี๋ยหนีการตามล่าของโจโฉ เตียวหุยเป็นผู้ใช้อุบายใช้กิ่งไม้ผูกหางม้า แล้วให้ทหารวิ่งไปมาในป่าหลังสะพานเตียงปันให้ฝุ่นตลบ เพื่อลวงทหารโจโฉว่ามีกองกำลังซุ่มในป่าจำนวนมาก ทั้งยังมีอุบายเปิดเผยเส้นทาง เพื่อหลอกเงียมหงันให้มาลอบโจมตี แต่สุดท้ายก็เข้าแผนของเตียวหุยที่ใช้กองทัพซุ่มซ้อนกลจนพ่ายแพ้ไป และอีกครั้งที่แสร้งทำเป็นเมามายเพื่อลวงเตียวคับ จนในที่สุดก็เอาชนะเตียวคับได้ ทั้งที่มีชัยภูมิเสียเปรียบกว่า เป็นต้น
............................................................................................................................................
ม้าเฉียว (อังกฤษ: Ma Chao; จีนตัวเต็ม: 馬超; จีนตัวย่อ: 马超; พินอิน: Mǎ Chāo )
เป็นตัวละครในวรรณกรรมจีนอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊ก ที่มีตัวตนจริงตามประวัติศาสตร์ เชี่ยวชาญในการขี่ม้ามาก เป็น 1 ใน 5 ขุนพลพยัคฆ์แห่งจ๊กก๊ก ชื่อรองว่า เหมิงฉี เกิดที่มณฑลซานซี เป็นบุตรชายคนที่ 2 ของม้าเท้ง เจ้าเมืองเสเหลียง มีความแค้นต่อโจโฉมาก เนื่องจากม้าเท้งเป็นหนึ่งในบุคคลที่ร่วมลงชื่อกำจัดโจโฉตามหนังสือเลือดของพระเจ้าเหี้ยนเต้ ซึ่งเป็นบุคคลที่โจโฉระแวงอยู่ตลอดเวลาว่าจะตลบหลังตีเมืองลกเอี๋ยง ตอนตนออกไปทำศึกตามหัวเมืองต่าง ๆ จึงทำอุบายขอโองการฮ่องเต้แต่งตั้งตำแหน่งแม่ทัพปราบทักษิณ ให้ม้าเท้งเข้ามาเมืองฮูโต๋รับตำแหน่งแล้วจะจับฆ่า แต่ม้าเท้งซ้อนแผนไว้ ผลสุดท้ายแผนแตกจึงถูกโจโฉจับฆ่าตายทั้งตัวและน้องชายม้าต้าย ญาติผู้น้องเป็นผู้เดียวที่หลบหนีมาได้ จึงรีบไปบอกม้าเฉียว
ม้าเฉียวแค้นมากประกาศจะตามล้างโจโฉให้ได้ จึงรวบรวมทัพของตนผสมกับชนเผ่าเกี๋ยงบุกตีโจโฉ ทำให้โจโฉต้องเตลิดหนีด้วยการตัดหนวดทิ้ง และถอดเสื้อคลุมทิ้ง แต่เตียวคับเข้ามาขวาง จึงหลบหนีไปได้หวุดหวิด โจโฉได้กล่าวว่า ม้าเฉียวเก่งกล้าไม่แพ้ลิโป้ในอดีต จากนั้นม้าเฉียวจึงไปร่วมกับหันซุยทำศึกกับโจโฉ แต่ด้วยอุบายของโจโฉ ที่รอให้น้ำแข็งที่เกาะกุมกำแพงเมืองหนาแน่น และทำให้ม้าเฉียวระแวงหันซุย จึงชนะในที่สุด ม้าเฉียวจึงต้องร่อนเร่พเนจรและได้เข้าร่วมกับเตียวล่อ ได้เข้ารบกับจ๊กก๊ก โดยประลองฝีมือกับเตียวหุย รบถึงกัน 100 เพลง ก็ไม่มีใครแพ้-ชนะ เนื่องจากฝีมือสูสีกันมาก ด้วยอุบายของขงเบ้งทำให้ได้ม้าเฉียวมาอยู่กับฝ่ายจ๊กก๊ก เมื่อครั้งที่เล่าปี่ยกทัพเข้าตีเซงโต๋ในเสฉวนของเล่าเจี้ยง ขงเบ้งได้ให้ม้าเฉียวเป็นทัพหน้า เพียงแค่ได้ยินชื่อของม้าเฉียว ทหารของเล่าเจี้ยงก็ยอมแพ้ไม่ต้องรบทันที เพราะนับถือม้าเฉียวมากดุจเทพเจ้าแห่งสงคราม
ม้าเฉียวเสียชีวิตอย่างกระทันหัน ขณะตามขงเบ้งลงใต้ปราบเบ้งเฮ็กด้วยวัยเพียง 45 ปี
............................................................................................................................................
ฮองตง อังกฤษ: Huang Zhong; จีนตัวเต็ม: 黄忠; จีนตัวย่อ: 黄忠; พินอิน: Huáng Zhōng; เวด-ไจลส์: Huang Chung เป็นตัวละครในวรรณกรรมจีนอิง
ประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊กที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ยุคสามก๊ก แม่ทัพแห่งจกก๊ก ฉายา ฮั่นสินแห่งหนานหยาง เป็นชาวเมืองหนานหยาง (บ้านเดียวกับขงเบ้ง) เชี่ยวชาญในการใช้ง้าวและเกาทัณฑ์ เป็นผู้ที่มีคุณธรรม เป็น 1 ใน 5 ทหารเสือของจ๊กก๊ก โดยฮองตงเป็นคนที่ 4
เดิมเป็นขุนพลที่รักษาเมืองเตียงสา ของเล่าเปียว เมื่อออกรบเคยพลาดท่าในสนามรบ และกวนอูไว้ชีวิต ในการต่อสู้ครั้งต่อมา จึงจงใจยิงเกาทัณฑ์พลาด เป็นการทดแทนบุญคุณกลับคืน แต่เจ้าเมืองเตียงสาเข้าใจว่า ฮองตงเอาใจข้างข้างฝ่ายเล่าปี่ จึงกล่าวหาว่าฮองตงเป็นกบฏ เมื่อเล่าปี่เข้าเมืองเตียงสาได้แล้ว ได้ไปพบฮองตงที่บ้านพัก พบฮองตงนอนเมาอยู่ด้วยความเสียใจที่ไม่สามารถรักษาเมืองได้ เล่าปี่ กวนอู และเตียวหุยทำการคาราวะฮองตงว่า เป็นนักรบที่มีฝีมือและคุณธรรมอย่างแท้จริง พร้อมเกลี้ยกล่อมให้มาเข้าร่วมด้วย ฮองตงจึงเข้าร่วมกับเล่าปี่เมื่ออายุได้ 60 ปี และได้เป็น 1 ใน 5 ทหารเสือของจ๊กก๊ก
ฮองตงสร้างผลงานอีกครั้ง เมื่อแฮหัวเอี๋ยนยกทัพมา ขงเบ้งแสร้งพูดยั่ว โดยกล่าวว่าฮองตงแก่ชราแล้ว คงจะไม่มีเรี่ยวแรง ฮองตงจึงเกิดมานะ แสดงพละกำลังด้วยการหักคันธนูและรำง้าวให้ดู ฮองตงหนีไปตั้งหลักที่ยอดเขาเตงกุนสัน เพื่อให้แฮหัวเอี๋ยนที่อยู่ริมเขาตะโกนท้าทายให้ลงมาสู้ แต่ฮองตงก็ไม่ยอมสู้ จนกระทั่งฝ่ายแฮหัวเอี๋ยนอ่อนล้าเองในเวลาบ่าย ทหารทุกคนกำลังนอนหลับ ฮองตงฉวยโอกาสบุกลงมา ตัดศีรษะแฮหัวเอี๋ยนทันที ฮองตงเสียชีวิตลงกลางสนามรบ จากการรบกับง่อก๊ก ครั้งเล่าปี่ยกทัพไปรบเพื่อล้างแค้นให้กวนอูในศึกอิเหลง เมื่ออายุได้ 75 ปี
แต่การที่ฮองตงไม่ลงมาโจมตีนั้นเพราะหวดเจ้งยังไม่ยกธงแดง เมื่อยกธงแดงจึงฉวยโอกาสโจมตีในขณะที่แฮหัวเอี๋ยนกำลังใส่ชุดเกราะ
ด้วยความเคารพ
林明通
(หลิมเบ่งถ้อง)